หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
(Bachelor of Nursing Science)
ชื่อปริญญา ภาษาไทยฉบับเต็ม : พยาบาลศาสตรบัณฑิต
ชื่อปริญญา ภาษาไทยฉบับย่อ : พย.บ.
ชื่อปริญญา ภาษาอังกฤษฉบับเต็ม : Bachelor of Nursing Science
ชื่อปริญญา ภาษาอังกฤษฉบับย่อ : B.N.S.
รูปแบบของหลักสูตร : หลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรฐานการอุดมศึกษา 2561 มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. 2560 เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2558 และข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยการให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ระดับวิชาชีพ พ.ศ. 2563
ประเภทของหลักสูตร : เป็นหลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาชีพ
ภาษาที่ใช้ : ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
การรับเข้าศึกษา : รับนักศึกษาที่สามารถสื่อสารภาษาไทย
ความร่วมมือกับสถาบันอื่น : เป็นหลักสูตรเฉพาะของคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา : ให้ปริญญาพยาบาลศาสตรบัณฑิตสาขาเดียว
สถานภาพของหลักสูตรและการพิจารณาอนุมัติเห็นชอบหลักสูตร
- หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2565
- กำหนดใช้ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป
- คณะกรรมการประจำคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พิจารณาเห็นชอบหลักสูตร ในการประชุมครั้งที่ 17/2564 วันที่ 2 กันยายน 2564
- สภาการพยาบาล พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตร ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565
- คณะกรรมการบริหารศึกษาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตร ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 วันที่ 7 เมษายน 2565
- คณะกรรมการประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตร ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 วันที่ 19 เมษายน 2565
- คณะกรรมการสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรพยาบาล ศาสตรบัณฑิต ในการประชุมครั้งที่ 5/2565 วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา : เป็นพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในสถานบริการสุขภาพทุกระดับ (ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ) ทั้งในภาครัฐและเอกชน โรงเรียน โรงงานหรือสถานประกอบการอื่น ๆ เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ นักวิจัย หรือประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ปรัชญาของหลักสูตร
คณะพยาบาลศาสตร์ มีความเชื่อว่า การพยาบาลเป็นการปฏิบัติกับชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ทุกวัย ทั้งบุคคล ครอบครัว กลุ่มคน และชุมชน ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยบูรณาการความรู้จากศาสตร์การพยาบาล และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง หลักฐานเชิงประจักษ์ จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ กฎหมาย ศิลปะการพยาบาล และประสบการณ์ บนพื้นฐานของการดูแลคนด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ มีสัมพันธภาพที่เอื้ออาทร ความเสมอภาค และยึดหลักเศรษฐกิจและสุขภาพพอเพียง จึงมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีปัญญาควบคู่กับคุณธรรม เป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพที่มีแนวคิดด้านการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตวรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่นและสังคม เป็นพลเมืองโลกที่ทันสมัย ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย
การจัดการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนมีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบและใช้วิจารณญาณในการปฏิบัติเชิงวิชาชีพและวิชาการ เรียนรู้ด้วยตนเอง และเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาสมรรถนะของตนเองอย่างต่อเนื่อง มีปฏิสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพกับผู้ป่วย/ผู้รับบริบาล และครอบครัว เพื่อนร่วมงาน สามารถใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร การจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการพยาบาลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทีมพยาบาลและทีมสุขภาพ มีความสามารถในการนำการเปลี่ยนแปลงค้นหา ประเมิน และใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทันสมัย เล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของการวิจัย มีคุณธรรมจริยธรรม เข้าใจและตระหนักในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนเองและผู้อื่น มีอุดมการณ์และความภาคภูมิใจในวิชาชีพ
ความสำคัญของหลักสูตร
วิชาชีพพยาบาลเป็นบุคลากรทางด้านสุขภาพที่มีบทบาทสำคัญต่อการดูแลปัญหาสุขภาพของประชาชนในทุกช่วงวัย ในปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพยังคงอยู่ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของประชากร ปัญหาสุขภาพวิกฤติ เฉียบพลัน และเรื้อรัง ปัญหาโรคอุบัติใหม่ รวมถึงปัญหาด้านภัยพิบัติและฉุกเฉินยังคงเป็นปัญหาหลักของการสาธารณสุข ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วจึงจำเป็นต้องผลิตพยาบาลเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศชาติ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2565) จึงมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ส่งเสริมแนวคิดการสร้างงานวิจัย/นวัตกรรม ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบโดยใช้กระบวนการวิจัย ทักษะสื่อสาร และทักษะการทำงานเป็นทีม เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลทุกมิติ การปรับปรุงหลักสูตรในครั้งนี้ จึงเน้นการบูรณาการทักษะที่จำเป็นและสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้สู่การปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลปัญหาสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มช่วงวัย
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้
1. มีความรอบรู้ในศาสตร์การพยาบาล การผดุงครรภ์ และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลปัญหาสุขภาพของประชาชนทุกช่วงวัย และสามารถประยุกต์ในการปฏิบัติการพยาบาลอย่างเหมาะสม
2. มีสมรรถนะในการปฏิบัติการพยาบาลและการผดุงครรภ์ โดยบูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาล และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริบาลทุกช่วงวัยบนพื้นฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยคำนึงถึงสิทธิผู้รับบริบาล ความปลอดภัย และการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
3. คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ คิดสร้างสรรค์ และมีเหตุผลในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม
4. มีความสามารถในการใช้กระบวนการวิจัยและกระบวนการสร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาทางการพยาบาลและปัญหาด้านสุขภาพของประเทศ
5. มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความรับผิดชอบ มีจิตอาสา และเป็นพลเมืองที่ดีตามระบอบประชาธิปไตย
6. ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทางการพยาบาลในการพัฒนาความรู้และการปฏิบัติการพยาบาลอย่างสร้างสรรค์และเท่าทันการเปลี่ยนแปลง
7. สื่อสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพ
8. มีภาวะผู้นำ สามารถสร้างสัมพันธภาพเชิงวิชาชีพ ประสานงานและทำงานเป็นทีมร่วมกับสหสาขาวิชาและผู้อื่นอย่างเหมาะสมและมีความสุข
9. สนใจใฝ่หาความรู้และเรียนรู้จากการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาตนเองและวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
ผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (Program Learning Outcome)
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนของหลักสูตร บัณฑิตสามารถ
1. ประยุกต์ใช้ความรู้ในศาสตร์การพยาบาล การผดุงครรภ์ และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลปัญหาสุขภาพของประชาชนทุกช่วงวัย (S, G)
2. ปฏิบัติการพยาบาลและการผดุงครรภ์ โดยบูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาล และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริบาลทุกช่วงวัยบนพื้นฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยคำนึงถึงสิทธิผู้รับบริบาล ความปลอดภัย และการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (S)
3. ร่วมสร้างสรรค์งานวิจัยและ/หรือนวัตกรรม ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ทางสุขภาพของประเทศในปัจจุบัน (S, G)
4. แสดงออกถึงพฤติกรรมการมีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ มีความรับผิดชอบ และมีจิตอาสา (G)
5. ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทางการพยาบาลในการพัฒนาความรู้และการปฏิบัติการพยาบาลอย่างสร้างสรรค์และเท่าทันการเปลี่ยนแปลง (G)
6. สื่อสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพ (G)
7. แสดงออกถึงการมีภาวะผู้นำ ทำงานเป็นทีมร่วมกับสหสาขาวิชาชีพและผู้อื่นอย่างเหมาะสมและมีความสุข (S, G)
ระบบการจัดการศึกษา
ระบบการจัดการศึกษาที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ใช้ระบบทวิภาค ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา โดย 1 ปีการศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา หนึ่งภาคการศึกษาปกติ มีระยะเวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์
การคิดหน่วยกิต
รายวิชาภาคทฤษฎี ใช้เวลาบรรยาย หรือการอภิปรายปัญหา หรือการศึกษาเทียบเท่าที่ใช้เวลา 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเท่ากับ 15 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตในระบบทวิภาค
รายวิชาภาคปฏิบัติในการทดลอง ใช้เวลา 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเท่ากับ 30 ชั่วโมง ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตในระบบทวิภาค
รายวิชาภาคปฏิบัติในคลินิก การฝึกงาน หรือการฝึกภาคสนาม หรือการทำโครงงาน หรือกิจกรรมการเรียนอื่นใด ตามที่ได้รับมอบหมาย ใช้เวลา 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเท่ากับ 45 ชั่วโมง ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตในระบบทวิภาค
การดำเนินการหลักสูตร
วัน – เวลา ในการดำเนินการเรียนการสอน
วิชาภาคทฤษฎี จัดการเรียนการสอนในวันราชการ ระหว่างเวลา 08.00 – 17.00 น.
วิชาภาคปฏิบัติ เรียนวันจันทร์ ถึงวันอาทิตย์
เวรเช้า เวลา 08.00 – 16.00 น.
เวรบ่าย เวลา 16.00 – 24.00 น.
เวรดึก เวลา 24.00 – 08.00 น.
การศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมสัปดาห์ละไม่เกิน 35 ชั่วโมง
ระยะเวลาการศึกษา ใช้เวลาการศึกษา 4 ปี ไม่เกิน 8 ปีการศึกษา
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
1. มีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์ มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. 2560 และเป็นไปตามเกณฑ์ของข้อบังคับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2562
2. สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีคะแนนเฉลี่ยสะสม ไม่ต่ำกว่า 2.50
3. มีสัญชาติไทย ความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีความพิการที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
4. คุณสมบัติอื่นๆ อันอาจเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา การปฏิบัติงาน และการประกอบวิชาชีพการพยาบาลที่มิได้ระบุไว้ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการสอบคัดเลือกของหลักสูตร และถือเป็นที่สิ้นสุด
ระบบการศึกษา : แบบชั้นเรียน
การเทียบโอนหน่วยกิต รายวิชาและการลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัย
เป็นไปตามข้อบังคับของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ.2562 (ภาคผนวก ก)
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 127 หน่วยกิต
โครงสร้างหลักสูตร ประกอบด้วย 3 หมวดวิชา ดังนี้
หมวดวิชา | หน่วยกิต |
1.หมวดวิชาศึกษาทั่วไป | 30 |
1.1 กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 12 หน่วยกิต |
|
1.2 กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 9 หน่วยกิต |
|
1.3 กลุ่มวิชาภาษา 9 หน่วยกิต |
|
2.หมวดวิชาเฉพาะ | 91 |
2.1 กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ 17 หน่วยกิต |
|
2.2 กลุ่มวิชาชีพ 74 หน่วยกิต |
|
– กลุ่มวิชาทฤษฎี 38 หน่วยกิต |
|
– กลุ่มวิชาปฏิบัติ 36 หน่วยกิต |
|
3.หมวดวิชาเลือกเสรี | 6 |