Program
Knowledge Management
Student Services
Contact Us
|
|
Practical Nursing Certificate Program (Care for Older People)

Practical Nursing Certificate Program
(Care for Older People)

ชื่อหลักสูตร   
          ภาษาไทย  : หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (การดูแลผู้สูงอายุ) หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2563

          ภาษาอังกฤษ : Practical Nursing Certificate Program  (Care for Older People)

ชื่อประกาศนียบัตร   
          ภาษาไทย  ชื่อเต็ม : ประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล(การดูแลผู้สูงอายุ)

          ชื่อย่อ : ป.ผู้ช่วยพยาบาล(การดูแลผู้สูงอายุ)
          ภาษาอังกฤษ  ชื่อเต็ม : Practical Nursing Certificate  (Care for Older People)
          ชื่อย่อ : Cert.PN. (Care for Older People)

          ปัจจุบันปัญหาสุขภาพที่ต้องการการดูแลขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่องของประชาชนไทย โดยเฉพาะกลุ่มวัยผู้สูงอายุ กำลังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น  ทั้งนี้จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านสังคม สัดส่วนของประชากรในกลุ่มวัยผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น มีช่องว่างทางเศรษฐกิจและมีสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ พฤติกรรมการดำเนินชีวิตในแต่ละวันที่ไม่เอื้อให้มีสุขภาพดี ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยเฉียบพลันและเรื้อรัง เกิดความพิการ ช่วยเหลือตนเองได้น้อย  อยู่ในภาวะพึ่งพิงจากครอบครัวและชุมชน                                                                             
          ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มุ่งมั่นและสร้างความเป็นเลิศในวิชาชีพได้ก่อตั้ง ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์และศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลขนาด  400  เตียงในอนาคตจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรทางด้านสุขภาพให้เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ช่วยพยาบาลในการให้บริการช่วยเหลือดูแลสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ
          คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดตั้งหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาลขึ้น เพื่อผลิตผู้ช่วยพยาบาลตอบสนองความต้องการการดูแลในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งในสถานพยาบาลและในชุมชน  ให้ได้รับการช่วยเหลือดูแลให้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานได้ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามอัตภาพ และรองรับการขยายตัวของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ในอนาคต

          มีการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยี และห้องปฏิบัติการหอผู้ป่วยเสมือนจริง โดยคณาจารย์และอาจารย์พี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพ เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะการช่วยเหลือดูแลขั้นพื้นฐานที่เป็นเลิศ ให้สามารถทำงานบริการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งในสถานพยาบาลและในชุมชน

ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร ผู้สำเร็จการศึกษาจะมีความสามารถและคุณลักษณะ ดังต่อไปนี้
          1. ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุด้านความต้องการขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การป้องกัน ภาวะแทรกซ้อนและอันตรายต่างๆ และการฟื้นฟูสภาพภายใต้ความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ในสถานพยาบาลและที่บ้าน
          2. ติดตามและบันทึกความเปลี่ยนแปลงอาการและอาการแสดงของโรคและความต้องการของผู้ป่วยและ ญาติตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์มอบหมาย
          3.ช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์และสิ่งแวดล้อมในการตรวจรักษาพยาบาลที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
          4. ช่วยทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในภาวะฉุกเฉินภายใต้การควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือ การพยาบาลและการผดุงครรภ์
          5. ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งติดตาม ส่งต่อและประเมินผล
          6. มีทัศนคติที่ดีต่อการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ
          7. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ทีมสุขภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
          8. มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อหน้าที่ จิตอาสาและมีวินัย

หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (การดูแลผู้สูงอายุ) หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 มีรายละเอียด ดังนี้
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 38 หน่วยกิต
โครงสร้างหลักสูตร ประกอบด้วย
          1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป                 จำนวน 6 หน่วยกิต
          2. หมวดวิชาเฉพาะ                        จำนวน 30 หน่วยกิต
                2.1 รายวิชาภาคทฤษฎี            จำนวน 18 หน่วยกิต
                2.2 รายวิชาภาคปฏิบัติ            จำนวน 12 หน่วยกิต
          3. หมวดวิชาเลือก จำนวน 2 หน่วยกิต
          ระบบการศึกษาตามหลักสูตรใช้แบบทวิภาค แบ่งเป็น 2 ภาคปกติ และ 1 ภาคฤดูร้อน โดยหนึ่งภาคการศึกษาปกติ มีระยะเวลาการศึกษาภาคละ 15 สัปดาห์ และภาคฤดูร้อนมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 8 สัปดาห์
การคิดหน่วยกิต
          1. รายวิชาภาคทฤษฏี ใช้เวลาบรรยายหรือการอภิปรายปัญหาหรือการศึกษาเทียบเท่าที่ใช้เวลา 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษาปกติให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค
          2. รายวิชาภาคปฏิบัติในการทดลอง ใช้เวลา 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค
          3. รายวิชาภาคปฏิบัติในคลินิก การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนามหรือการทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย ใช้เวลา 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง ให้มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตระบบทวิภาค
การดำเนินการเรียนการสอน
          รายวิชาภาคทฤษฏี จัดการศึกษาในวันเวลาราชการ เวลา 08.00 – 17.00 น.
          รายวิชาภาคปฏิบัติ จัดการศึกษาเต็มวันระหว่างวันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ แบ่งเป็น
          เวรเช้า เวลา 07.00 – 15.00 น.
          เวรบ่าย เวลา 15.00 – 23.00 น.
          เวรดึก เวลา 23.00 – 07.00 น.
          หมายเหตุ : ผู้เข้าศึกษาต้องลงทะเบียนในแต่ละภาคการศึกษาปกติไม่เกิน 22 หน่วยกิตและภาคฤดูร้อนไม่เกิน 6 หน่วยกิต
ระยะเวลาการศึกษา
          ให้ใช้ระยะเวลาการศึกษา 2 ภาคปกติ และ 1 ภาคฤดูร้อน

1. มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง
2. มีผลการเรียนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าไม่น้อยกว่า 2.00
3. สุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่มีความพิการ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหรือการปฏิบัติงาน
4. ไม่เคยต้องโทษคดีอาญา หรือจำคุก
5. สามารถสื่อสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานได้

1. คณะพยาบาลศาสตร์ สามารถผลิตผู้ช่วยพยาบาลที่มีทักษะการดูแลช่วยเหลือที่ดีตอบสนองความต้องการสังคม
2. โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีผู้ช่วยพยาบาลให้บริการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ
3. มีผู้ช่วยพยาบาลปฎิบัติงานบริการผู้ป่วยและผู้สูงอายุในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน
4. ผู้สำเร็จการศึกษามีรายได้เสริมหรือรายได้หลักจากการให้การช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

Practical Nursing Certificate Program (Care for Older People)
Skip to content