Program
Knowledge Management
Student Services
Contact Us
|
|
Bachelor of Nursing Science Program (For Other Bachelor’s Degrees)

Bachelor of Nursing Science Program
(For Other Bachelor’s Degrees)

ชื่อปริญญา ภาษาไทยฉบับเต็ม : หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น)
ชื่อปริญญา ภาษาไทยฉบับย่อ : พย.บ.
ชื่อปริญญา ภาษาอังกฤษฉบับเต็ม : Bachelor of Nursing Science
ชื่อปริญญา ภาษาอังกฤษฉบับย่อ : B.N.S.
รูปแบบของหลักสูตร : หลักสูตรระดับปริญญาตรี เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องมาตรฐานหลักสูตร พ.ศ. 2558 มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. 2560 และข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ระดับวิชาชีพ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น พ.ศ. 2563
ประเภทของหลักสูตร : เป็นหลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาชีพ
ภาษาที่ใช้   ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
การรับเข้าศึกษา : รับนักศึกษาไทยที่สามารถสื่อสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้
ความร่วมมือกับสถาบันอื่น : เป็นหลักสูตรเฉพาะของคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา : ปริญญาสาขาวิชาเดียว คือ สาขาพยาบาลศาสตร์
สถานภาพของหลักสูตรและการพิจารณาอนุมัติเห็นชอบหลักสูตร

  • เป็นหลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2564
    กำหนดเปิดสอนในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564
  • หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตนี้ ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิวิพากษ์หลักสูตร เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563
  • คณะกรรมการบริหารหลักสูตรคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. 2560 และตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2558 ในการประชุมครั้งที่ 2/2563
    วันที่ 16 ธันวาคม 2563
  • คณะกรรมการประจำคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
    พิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. 2560 และตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2558 ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 วันที่ 8 มกราคม 2564
  • สภาการพยาบาล พิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. 2560 และมาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2558 ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564
  • คณะกรรมการบริหารการศึกษาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พิจารณาให้ความเห็นชอบให้เปิดหลักสูตร ในการประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564
  • คณะกรรมการประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พิจารณาให้ความเห็นชอบอนุมัติให้เปิดหลักสูตร ในการประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564
  • คณะกรรมการสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พิจารณาอนุมัติให้เปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2564 ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา : พยาบาลวิชาชีพในสถานบริการด้านสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิทั้งของรัฐและเอกชน หน่วยงานด้านสาธารณสุขในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือปฏิบัติงานในสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อให้บริการด้านสุขภาพ เช่น โรงงาน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้น นักวิจัยปฏิบัติงานในสถาบันวิจัยหรือนักวิจัยอิสระ นักประกอบการทางสุขภาพ หรือประกอบอาชีพอิสระอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

ปรัชญาของหลักสูตร
          คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์มีความเชื่อว่า วิชาชีพการพยาบาลเป็นเสาหลักในการดูแลสุขภาวะของมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม ทุกช่วงวัยตั้งแต่เกิดจนตาย ในบริบทต่างๆ ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยบูรณาการความรู้จากศาสตร์ทางการพยาบาล ศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง หลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ การป้องกันความเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งการดูแลรักษาพยาบาล บนพื้นฐานจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ กฎหมาย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพ เข้าถึงระบบการบริการอย่างเท่าเทียมกัน ได้รับการดูแลตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยมีเป้าหมายให้บุคคล ครอบครัว ชุมชนสามารถดูแลตนเองและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
          นักศึกษา/ บุคคลที่จบการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น จึงได้รับการบ่มเพาะให้มีคุณลักษณะของบัณฑิต ที่มีความรอบรู้กว้างขวาง แสวงหาความรู้อยู่เสมอ มีโลกทัศน์ เข้าใจธรรมชาติของตนเอง ผู้อื่นและสังคม ตระหนักในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีการคิดอย่างเป็นระบบและ
มีเหตุผล สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการวิจัย หลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งเทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน พัฒนาคุณภาพและนวัตกรรม มีความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการทางสุขภาพ สามารถติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพทางสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          การจัดการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น อยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า “โลกนี้เป็นห้องเรียน (The world is our classroom)” ที่ผสานการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ (Adult learning) การเรียนรู้แบบนำตนเอง (Self –directed learning) การเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์จำลองเสมือนจริง (Simulation based learning) โดยจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบบูรณาการองค์ความรู้และการปฏิบัติการพยาบาล สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียน ทั้งความรู้ กระบวนการคิด สมรรถนะทางวิชาชีพ และตอบสนองความต้องการของประเทศ
          คุณลักษณะที่เด่นชัดของบัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ฯ คือ รอบรู้คู่ปัญญา พัฒนาองค์ความรู้ สู่นวัตกรรม จิตอาสา นำพาความสุข และมีทักษะการสร้างสัมพันธภาพ การสื่อสาร และการทำงานได้โดยอิสระและเป็นทีม ยึดมั่นในคุณธรรมและความแตกต่างของพหุวัฒนธรรม ร่วมวิจัยและนำผลการวิจัยไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลทั้งในคลินิกและชุมชนได้ แสวงหาความรู้และเรียนรู้ตลอดชีวิตและให้การพยาบาลทุกมิติตั้งแต่การส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพของผู้รับบริการทุกช่วงวัย

ความสำคัญของหลักสูตร
          ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีพันธกิจที่มุ่งเน้นผลิตบุคลากรสาขาวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ที่มีคุณภาพ และเป็นศูนย์การศึกษาต่อเนื่องในสาขาวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และด้านสุขภาพของประเทศ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับบุคคลไม่จำกัด เพศ วัย เชื้อชาติ หรือแม้แต่เศรษฐานะ ให้เพิ่มมากขึ้น หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น เป็นปริญญาที่สอง ที่เปิดโอกาสทางการศึกษาแก่ทุกคน ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้สามารถขอยกเว้นหรือขอเทียบโอนหน่วยกิตในรายวิชาการศึกษาทั่วไปได้ และสามารถขอเทียบโอนหน่วยกิตในรายวิชาพื้นฐานวิชาชีพเฉพาะ หากผู้เรียนสำเร็จการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะก้าวเข้าสู่วิชาชีพพยาบาลได้รับโอกาสศึกษาในสาขาพยาบาลศาสตร์  

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
        เพื่อให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรมีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ ดังนี้
          1. รอบรู้ในศาสตร์การพยาบาล ศาสตร์การแพทย์ และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ ตลอดจนปัญหาสุขภาพของประชาชน
          2. ปฏิบัติการพยาบาลครอบคลุม ๔ มิติทางการพยาบาล โดยบูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาล ศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงความปลอดภัย ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความคุ้มค่าคุ้มประโยชน์ บนพื้นฐานข้อมูลเชิงประจักษ์
          3. มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ
          4. มีความเป็นผู้นำ มีจิตอาสา ใช้ทักษะในการสื่อสารและแสดงออกอย่างเหมาะสมสามารถทำงานกับทีมสหสาขาวิชาชีพ และผู้อื่น
          5. คิดอย่างเป็นระบบ สร้างสรรค์ และมีวิจารณญาณ บนพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้อง และมีเหตุผล
          6. ประยุกต์ความรู้เกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยในการพัฒนาโครงการ นวัตกรรม หรืองานวิจัยทางการพยาบาล
          7. สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาการเรียนรู้ และการปฏิบัติการพยาบาล
          8. ส่งเสริมและดำรงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม และศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นพลเมืองดีที่สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม

ผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (Program Learning Outcome)
          เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนของหลักสูตร บัณฑิตสามารถ
          1. ประยุกต์ใช้ความรู้ในศาสตร์ทางการพยาบาล การผดุงครรภ์ และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาทางสุขภาพได้อย่างเหมาะสม บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์

          2. ปฏิบัติการพยาบาลตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยมุ่งเน้นความปลอดภัย และการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบริบทของสังคม

          3. พัฒนางานวิจัย/นวัตกรรมทางด้านการพยาบาลที่ตอบสนองต่อสุขภาพของประชาชนในยุคปัจจุบัน

          4. ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางสุขภาพ เพื่อการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

          5. สื่อสารและสามารถติดต่อประสานงานทางสุขภาพได้อย่างเหมาะสมในทุกระดับ
          6. มีจิตอาสา มีคุณธรรม และจริยธรรม

          7. เป็นผู้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง ทันต่อการเปลี่ยนแปลง คิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นระบบ มีเหตุผล และสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม

ระบบการจัดการศึกษา
         ใช้ระบบการศึกษาแบบระบบทวิภาค ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา โดย 1 ปี การศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา มีระยะเวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ ร่วมกับการเปิดภาคฤดูร้อน ใช้เวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์ โดยให้เพิ่มเติมชั่วโมงการศึกษาแต่ละรายวิชาให้เท่ากับภาคปกติ

การคิดหน่วยกิต
          รายวิชาภาคทฤษฎี  รายวิชาภาคทฤษฎีที่มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ให้ใช้เวลาในการบรรยายหรืออภิปราย 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมง ตลอดหนึ่งภาคการศึกษาปกติ
         
รายวิชาภาคปฏิบัติในการทดลอง  รายวิชาที่มีการปฏิบัติในห้องปฏิบัติการที่มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ให้ใช้เวลาฝึกหรือทดลอง 2 ชั่วโมง ถึง 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือตั้งแต่ 30 ชั่วโมง ถึง 45 ชั่วโมง ตลอดหนึ่งภาคการศึกษาปกติ
          วิชาภาคปฏิบัติในคลินิก การฝึกงาน หรือการฝึกภาคสนามในโรงพยาบาลหรือในชุมชน หรือการทำโครงงาน หรือกิจกรรมการเรียนอื่นใด ตามที่ได้รับมอบหมาย
 การฝึกภาคปฏิบัติที่มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต ให้ใช้เวลาฝึกปฏิบัติในสถานพยาบาลหรือสถาบันอื่นที่สภาการพยาบาลประกาศกำหนด ทั้งภายในและหรือภายนอกสถานที่ 3 ชั่วโมงถึง 6 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ อย่างน้อย 15 สัปดาห์ หรือตั้งแต่ 45 ชั่วโมง ถึง 90 ชั่วโมง ตลอดหนึ่งภาคการศึกษาปกติ
          การจัดการศึกษาภาคฤดูร้อน  มีการจัดการเรียนการสอนในภาคฤดูร้อนในการเรียนชั้นปีที่ 1 ภาคละ 7-8 สัปดาห์

การดำเนินการหลักสูตร
          วัน – เวลา ในการดำเนินการเรียนการสอน
                    วิชาภาคทฤษฎี จัดการเรียนการสอนในวันราชการ เวลา 08.00 – 16.00 น. และนอกเวลา 16.01 – 18.00 น.
                   
วิชาภาคปฏิบัติ เรียนวันจันทร์ ถึงวันอาทิตย์
                   
เวรเช้า   เวลา 08.00 – 16.00 น.
                   
เวรบ่าย เวลา 16.00 – 24.00 น.
                   
เวรดึก   เวลา 24.00 – 08.00 น.
          หมายเหตุ : 1. ศึกษาทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติสัปดาห์ละไม่เกิน 35 ชั่วโมง
                            2. ระยะเวลาการศึกษา ให้ใช้เวลาการศึกษา 2 ปี 6 เดือน ไม่เกิน 5 ปีการศึกษา

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
          1. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น ที่ไม่ใช่สาขาพยาบาล และต้องมีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมระดับปริญญาตรี ไม่ต่ำกว่า 2.50
          2. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม/กระทรวงศึกษาธิการ/ทบวงมหาวิทยาลัย

          3. มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือมีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา และการประกอบอาชีพ เช่น ตาบอดสีรุนแรง หูหนวกหรือหูตึง เป็นต้น

          4. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น ที่สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้ในหมวดการศึกษาทั่วไปได้เท่านั้น
          5. ผลสอบภาษาอังกฤษเป็นไปตามประกาศ เกณฑ์คะแนนภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กรณีอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์

ระบบการศึกษา : แบบชั้นเรียน

การเทียบโอนหน่วยกิต รายวิชาและการลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัย
          รายวิชาและการลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัย เทียบโอนตามหน่วยกิตตามข้อบังคับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2562 และตามข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยการให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพพยาบาล และการผดุงครรภ์ ระดับวิชาชีพ พ.ศ. 2563 ข้อ 13.2 การเทียบโอนผลการเรียนรู้

จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร    122 หน่วยกิต
โครงสร้างหลักสูตร ประกอบด้วย 3 หมวดวิชา ดังนี้

หมวดวิชา

หน่วยกิต

ก.หมวดวิชาปรับพื้นฐาน (ไม่นับหน่วยกิต)

2

ข.หมวดวิชาศึกษาทั่วไป (เทียบโอนหน่วยกิต)                                

30

      1. กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์        12  หน่วยกิต

 

      2. กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์      9  หน่วยกิต

 

      3. กลุ่มวิชาภาษาและการสื่อสาร                     9  หน่วยกิต

 

ค.หมวดวิชาเฉพาะ

86

     1. กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ                           13   หน่วยกิต

 

     2. กลุ่มวิชาชีพ                                            73  หน่วยกิต

 

            – กลุ่มวิชาทฤษฎี                                    37  หน่วยกิต

 

            – กลุ่มวิชาปฏิบัติ                                    36  หน่วยกิต

 

ง.หมวดวิชาเลือกเสรี                 

6

หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น) หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2564
Skip to content