หลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง
สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน
Program of Nursing Speciality in Emergency Nurse Practitioner
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย : หลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน
ภาษาอังกฤษ : Program of Nursing Specialty in Emergency Nurse Practitioner
ชื่อประกาศนียบัตร
ภาษาไทย : ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน
ภาษาอังกฤษ : Certificate of Nursing Specialty in Emergency Nurse Practitioner
ชื่อย่อ : ป. การพยาบาลเฉพาะทางเวชปฏิบัติฉุกเฉิน
ภาษาอังกฤษ : Cert. of Nursing Specialty in ENP
รูปแบบของหลักสูตร
หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน ระยะเวลาการฝึกอบรม 20 สัปดาห์ ตามเกณฑ์การจัดทำหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางและการบริหารหลักสูตร พ.ศ. 2557 และหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางต้นแบบ พ.ศ. 2567 ที่สภาการพยาบาลให้การรับรอง
ประเภทของหลักสูตร: เป็นหลักสูตรฝึกอบรมทางวิชาชีพหลังปริญญาตรี
ภาษาที่ใช้ : ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
การรับเข้าฝึกอบรม : ปีละ 1 รุ่น รุ่นละ 48 คน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568 ถึง 2572 รับผู้เข้าอบรมที่สามารถสื่อสารภาษาไทย
ความร่วมมือกับสถาบันอื่น : เป็นหลักสูตรความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และกองการพยาบาล โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
สถานที่เรียน : วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
การให้ประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรม :
1. ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน
2. หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องทางการพยาบาล (CNEU) 50 หน่วยคะแนน
3. ประกาศนียบัตรการช่วยชีวิตขั้นสูง (AHA ACLS)
4. ประกาศนียบัตรการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศพื้นฐาน (Basic Aeromedical Evacuation)
5. ประกาศนียบัตรการสอนภาคปฏิบัติการพยาบาลเฉพาะทาง
สถานภาพของหลักสูตรและการพิจารณาอนุมัติเห็นชอบหลักสูตร
สภาการพยาบาลให้การรับรองหลักสูตรในการประชุมครั้งที่ 7/2567 วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ระยะเวลารับรอง 5 ปี มีผลจนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2572
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการฝึกอบรม
เป็นพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการพยาบาลในหอผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ในสถานพยาบาลทุกระดับ (ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ) ทั้งภาครัฐและเอกชน หรือสถานประกอบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน นักวิจัย หรือประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้บาดเจ็บรุนแรงซึ่งเป็นภยันตรายต่อชีวิตหรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการช่วยชีวิตและช่วยเหลือในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยความถูกต้อง แม่นยำ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก รวมถึงการเฝ้าระวังและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องจนพ้นภาวะวิกฤต จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตและสูญเสียน้อยที่สุด พยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินมีบทบาทสำคัญในการช่วยชีวิต แก้ไขภาวะเร่งด่วน และช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย ทั้งการปฏิบัติการในฐานะผู้นำทีม และผู้ร่วมทีมปฏิบัติการช่วยชีวิต ตั้งแต่ก่อนถึงโรงพยาบาล (Pre-hospital phase) ในห้องฉุกเฉิน (Emergency department) และระหว่างนำส่งสถานพยาบาล (Interfacility transfer) ที่มีขีดความสามารถเหมาะสม ดังนั้น พยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินจึงต้องมีสมรรถนะทั้งในด้านกฎหมายและจริยธรรมในการพิทักษ์สิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉิน การปฏิบัติการทางคลินิกในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งนอกโรงพยาบาล ในโรงพยาบาล และการส่งต่อระหว่างสถานพยาบาล สมรรถนะด้านการสื่อสาร การประสานงาน การประยุกต์ใช้ข้อมูล หลักฐานเชิงประจักษ์ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพและผลลัพธ์การพยาบาล
การเพิ่มพูนความรู้ และพัฒนาทักษะพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินอย่างเป็นระบบ มีกฎหมายรองรับการทำเวชปฏิบัติฉุกเฉินที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ทันท่วงทีทั้งในภาวะปกติและสถานการณ์ภัยพิบัติ จะช่วยให้พยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินมีสมรรถนะ มีความมั่นใจ และตัดสินใจปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวดเร็วทันเวลา ปลอดภัยทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ซึ่งพบว่าปัจจุบันยังมีจำนวนพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ/ผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ หรือสถานพยาบาลเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ
วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตระหนักถึงความสำคัญ จึงได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และกองการพยาบาล โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนสมรรถนะพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม รองรับระบบการแพทย์ฉุกเฉินและสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งมีความถี่ของอุบัติการณ์การเกิดและระดับความซับซ้อนรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทางสาขาพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินนี้ได้จัดทำขึ้นตามเกณฑ์การจัดทำหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางและการบริหารหลักสูตร พ.ศ. 2557 และหลักสูตรต้นแบบการฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทางสาขาพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน สภาการพยาบาล พ.ศ. 2567
เพื่อเพิ่มพูนสมรรถนะของพยาบาลในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินทั้งในระยะก่อนถึงโรงพยาบาล ในโรงพยาบาล และการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล โดยประยุกต์ใช้ความรู้ด้านนโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน สถานการณ์ปัญหาสุขภาพฉุกเฉิน รวมทั้งบทบาทพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน สามารถประเมินและจัดการทรัพยากร เพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทั้งในภาวะปกติและในภาวะภัยพิบัติ สื่อสารและใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ประยุกต์ใช้ข้อมูลในการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมทั้งสามารถ ประสานงานกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน
ภายหลังสำเร็จการฝึกอบรม ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีสมรรถนะ และทักษะเฉพาะดังนี้
1. ด้านจริยธรรม จรรยาบรรณ และกฎหมาย ปฏิบัติการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน โดยใช้หลักจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ กฎหมายวิชาชีพ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1. มีส่วนร่วมในการจัดระบบเพื่อการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมสําหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
2. พิทักษ์สิทธิ์เพื่อให้มีการจัดลําดับการเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วยที่มีจํานวนและสมรรถนะของพยาบาลและบุคลากรอื่นตามมาตรฐานที่สภาการพยาบาลกําหนด
3. แก้ไขปัญหาจริยธรรมที่ยุ่งยากซับซ้อน มีความจํากัดด้านระยะเวลา ทรัพยากร ความเชื่อ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม รวมทั้งกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับผิดชอบหรือตัดสินใจด้วยตนเอง
4. พิทักษ์สิทธิผู้ป่วยและญาติในการได้รับข้อมูลและการรักษาความลับของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
2. ด้านการปฏิบัติการพยาบาลและการผดุงครรภ์ บูรณาการศาสตร์ทางการพยาบาล ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและหลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิกใการปฏิบัติพยาบาลในผู้ป่วยฉุกเฉิน
1. คัดแยก ตัดสินใจ สั่งการ และปฏิบัติการพยาบาลฉุกเฉินทั้งนอกโรงพยาบาล ในโรงพยาบาล และระหว่างโรงพยาบาล ครอบคลุมภาวะปกติและสถานการณ์ภัยพิบัติ
2. ดักจับปัญหาสุขภาพฉุกเฉินได้อย่างแม่นยำรวดเร็วและลดอันตรายและการเสียชีวิตที่ป้องกันได้
3. บริหารยากลุ่มสําคัญและสารน้ําที่ใช้รักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน และในกลุ่มผู้ป่วย Stroke, STEMI, Sepsis, Trauma
4. ปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นสูง (Advanced Life Support) ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
5. มีความไวต่อการจัดการและให้การพยาบาลผู้ป่วยที่ติดเชื้อและผู้ที่มีปัญหาเชื้ออุบัติใหม่
3. ด้านคุณลักษณะเชิงวิชาชีพสาขาทางคลินิก เป็นผู้มีความรู้และทักษะเฉพาะ ใฝ่รู้ค้นคว้า และพัฒนาตนเองในการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินได้อย่างต่อเนื่อง มีจริยธรรมและเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ ยอมรับนับถือและเห็นถึงคุณค่าความแตกต่างของบุคคลโดยไม่แบ่งแยก มีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการพัฒนาวิชาชีพ
4. ด้านภาวะผู้นํา การจัดการ และการพัฒนาคุณภาพ ให้ทิศทางและสนับสนุนการทำงานของทีมการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างแรงบันดาลใจในการปฏิบัติการพยาบาล มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์โครงสร้างและสถานการณ์ และวางแผนในการปรับปรุงพัฒนางานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ
5. ด้านวิชาการและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิก ออกแบบการพยาบาลสําหรับผู้ป่วยฉุกเฉินรายบุคคล
1. ประมวลประสบการณ์ และหลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิก เพื่อออกแบบ วางแผน และ ให้การรักษาการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
2. นําเสนอผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติการพยาบาลถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจได้
6. ด้านการสื่อสารและสัมพันธภาพ
1. สื่อสารข้อมูลที่เป็น real time ระหว่างทีมสุขภาพ เพื่อวางแผนรักษาพยาบาลร่วมกัน
2. สื่อสารสถานะสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้สามารถวางแผนเตรียมรับสถานการณ์สุขภาพที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
3. มีส่วนร่วมในการสื่อสารข้อมูลเพื่อเตือนหรือปกป้องชุมชนและสังคมจากภัยพิบัติที่อาจมีผลให้เกิดผู้ป่วยฉุกเฉิน
7. ด้านเทคโนโลยี และสารสนเทศ
1. บันทึกข้อมูลทางการพยาบาลที่มีความชัดเจนถูกต้อง ครอบคลุมทั้งทางด้านการเปลี่ยนแปลงของภาวะสุขภาพ การจัดการทางด้านการรักษาการพยาบาลเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งผลลัพธ์การรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
2. วิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทางคลินิกของผู้ป่วย นําไปสู่การพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล
3. มีส่วนร่วมในการตัดสินการใช้เทคโนโลยีและ/หรือปัญญาประดิษฐ์ในการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยฉุกเฉิน
8. ด้านสังคม มีบุคลิกที่มีความเป็นมิตร สร้างความไว้วางใจ และความน่าเชื่อถือ ท่าทีอบอุ่น มีความเห็นอกเห็นใจกับญาติผู้ป่วยและทีมสุขภาพ
คุณสมบัติทั่วไป
1. สำเร็จการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตหรือเทียบเท่า
2. มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือใบอนญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้น 1 ที่ยังไม่หมดอายุ
3. มีประสบการณ์ในการปฏิบัติการพยาบาลอย่างน้อย 2 ปี
4. มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรค์ต่อการศึกษาอบรม
5. ผ่านการคัดเลือก โดยคณะกรรมการสอบคัดเลือก
6. ในกรณีที่กำลังรับราชการจะต้องมีใบรับรองจากผู้บังคับบัญชาขั้นต้น (หัวหน้าหอผู้ป่วย/หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาล)และ ได้รับการอนุมัติให้ลาอบรมได้ตลอดหลักสูตรจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยงาน นั้น ๆ(ผู้อำนวยการหรือเทียบเท่า)
คุณสมบัติเฉพาะ
เป็นผู้ที่กำลังปฏิบัติงานในแผนกอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน
สถานที่เรียน วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
แห่งฝึกปฏิบัติ จำนวน 12 แห่ง ประกอบด้วย
โรงพยาบาลตติยภูมิระดับสูง (Super Tertiary Care):
1. โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
2. โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
3. โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี กรมการแพทย์
4. ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
โรงพยาบาลศูนย์:
1. โรงพยาบาลสมุทรสาคร กระทรวงสาธารณสุข
2. โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กระทรวงสาธารณสุข
โรงพยาบาลทั่วไปประจำจังหวัด:
1. โรงพยาบาลปทุมธานี กระทรวงสาธารณสุข
โรงพยาบาลทั่วไป ระดับ M1:
1. โรงพยาบาลเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
โรงพยาบาลทั่วไป:
1. โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
โรงพยาบาลชุมชน:
1. โรงพยาบาลวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
2. โรงพยาบาลบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
สถาบันการแพทย์เฉพาะทาง:
1. สถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ
ค่าลงทะเบียนเข้ารับการอบรมตลอดหลักสูตรแบบเหมาจ่าย คนละ 75,000 บาท (เจ็ดหมื่นห้าพันบาทถ้วน)
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 20 หน่วยกิต
โครงสร้างหลักสูตร ประกอบด้วย 3 หมวดวิชา 7 รายวิชา ดังนี้
หมวดวิชา | หน่วยกิต |
1. วิชาแกน | 2 |
1.1 ระบบสุขภาพและระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน | 2 (2-0-4) |
2. วิชาบังคับของสาขาทางคลินิก | 3 |
2.1 การประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงและการตัดสินทางคลินิกสําหรับพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน | 3 (1-4-4) |
3. วิชาความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา | 15 |
3.1 แนวคิดหลักการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินและการจัดการผลลัพธ์ | 4 (3-2-7) |
3.2 การพยาบาลเวชปฏิบัติสําหรับผู้ป่วยฉุกเฉินทางอายุรกรรม | 2 (2-0-4) |
3.3 การพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินและสาธารณภัย | 2 (2-0-4) |
3.4 ปฏิบัติการทักษะพิเศษทางการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน | 4 (0-16-4) |
3.5 ฝึกปฏิบัติสร้างเสริมประสบการณ์พยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน | 3 (0-12-3) |
รวม | 20 |