บริการนักศึกษา
บริการอาจารย์
ติดต่อเรา
หน้าแรก
ข้อมูลหลักสูตร
การจัดการความรู้ KM
หลักสูตร
การจัดการความรู้ KM
บริการนักศึกษา/อาจารย์
ติดต่อเรา
|
|
พิธีมอบประกาศนียบัตร และเข็มสัญลักษณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แก่ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร การพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) รุ่นที่ 1

พิธีมอบประกาศนียบัตร และเข็มสัญลักษณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แก่ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร การพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) รุ่นที่ 1

     วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดพิธีมอบประกาศนียบัตร และเข็มสัญลักษณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แก่ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร การพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) รุ่นที่ 1
     23 ธันวาคม 2565 : ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดีและให้โอวาทแก่นักศึกษา ในพิธีมอบประกาศนียบัตรและเข็มสัญลักษณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แก่ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) รุ่นที่ 1 จำนวน 40 คน โดยมีคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้บริหารจากกองการพยาบาล โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยคณาจารย์และบุคลากร จากทั้งสองสถาบันเข้าร่วมแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จการศึกษาในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม BB205 ชั้น 2 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ กล่าวแสดงความยินดีและให้โอวาทแก่นักศึกษา ความว่า “ ในนามของผู้บริหารและคณาจารย์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผมขอแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จการศึกษาทุกคนที่ได้รัประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติในวันนี้ ทั้งนี้ ทุกคนแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการปฏิบัติการพยาบาลในฐานะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา
นอกจากนี้ การประดับเข็มสัญลักษณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยังแสดงถึงการเป็นศิษย์ของสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ ผมขอให้ทุกท่านน้อมนำพระปณิธานของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้ให้ไว้ว่า “ เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” เป็นแนวทางในการปฏิบัติวิชาชีพในฐานะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา เพื่อเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยวิกฤติและครอบครัว ส่งเสริมให้ผู้ป่วยวิกฤติและครอบครัวได้รับการรักษาพยาบาลด้วยความเอื้ออาทร พัฒนาตนเองและเรียนรู้วิทยาการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพตลอดไป ”
ศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง กล่าวว่า “ วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันการศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2559 ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงสืบทอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพอนามัย ได้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางผู้ป่วยมะเร็งขนาด 100 เตียงเมื่อพ.ศ. 2552 และในปีพ.ศ.2558 มีพระดำริให้มีการจัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ส่วนขยายให้เป็นสถาบันการแพทย์ครบวงจรขนาด 400 เตียง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2560 เพื่อถวายราชสดุดี พร้อมกันนี้ได้ ทรงมีพระกรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ให้จัดตั้งวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ปีพ.ศ. 2559 เพื่อผลิตบุคลากรพยาบาลตอบสนองความต้องการบุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ 400 เตียง และตอบสนองความต้องการของสังคม
     ทั้งนี้ ภาระกิจของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี นอกจากการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตแล้ว ยังมีภาระกิจในการให้บริการวิชาการ และพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพ เพื่อเพิ่มสมรรถนะหรือ up skill เป็นพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพสูง เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ป่วย สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติเป็นหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาแรกของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ที่มีความสำคัญและเป็นความต้องการของประเทศ ด้วยสถานการณ์การเจ็บป่วยของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในปัจจุบัน มีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น การรักษาพยาบาลต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในการเฝ้าระวัง ประเมินอาการ และบำบัดอาการ พยาบาลทั้ง 40 คน ที่สำเร็จการศึกษาในวันนี้ จึงเป็นศิษย์เก่าหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางรุ่นแรกของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ที่จะกลับไปปฏิบัติงานด้วยความเชี่ยวชาญ สามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลและองค์กรต้นสังกัด และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับพยาบาลรุ่นน้องหรือนักศึกษาที่ศึกษาภาคปฏิบัติในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากรายงานของประธานหลักสูตรที่กล่าวถึงกระบวนการการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร ที่เน้นการฝึกปฏิบัติทั้งในห้องปฏิบัติการเสมือนจริงและการปฏิบัติโดยตรงกับผู้ป่วยวิกฤติในแหล่งฝึกทั้งสองแห่ง คือ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประกอบกับการศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรการกู้ชีพขั้นสูง การพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต และการตรวจประเมินผู้ป่วยบาดเจ็บช่องท้องด้วยเครื่องอัลต้าซาวน์ ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าพยาบาลทั้ง 40 คน ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) จากสถาบันแห่งนี้จะนำความรู้ความเชี่ยวชาญไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานในหน่วยงานต้นสังกัดของตนเอง ได้แก่โรงพยาบาลภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทุกภาคส่วนของประเทศ โรงพยาบาลสังกัดเหล่าทัพ ทั้งกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน ท้ายนี้ ขอขอบคุณคณะกรรมการดำเนินงานทุกท่าน ที่ได้จัดดำเนินการศึกษาหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติในครั้งนี้ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ท่านเคารพนับถือจะดงบันดาลให้พยาบาลผู้สำเร็จการศึกษาทุกท่านประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีสุขภาพแข็งแรงและมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป ”
     สำหรับ หลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) เป็นหลักสูตรฝึกอบรมให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต สามารถเฝ้าระวังประเมินอาการเปลี่ยนแปลง วิเคราะห์ปัญหาสถานการณ์ทางคลินิกและความต้องการการดูแลรักษาพยาบาล สามารถใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล สามารถจัดการ บรรเทา ป้องกันความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนจากการดำเนินของโรคและการรักษา เพิ่มอัตราการรอดชีวิต โดยยึดหลักการทำงานแบบสหสาขาวิทยาการ โดยผู้สำเร็จการศึกษา สามารถเป็นพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการพยาบาลในหอผู้ป่วยวิกฤต หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต ในสถานบริการสุขภาพทุกระดับ (ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ) ทั้งภาครัฐและเอกชน หรือสถานประกอบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ นักวิจัย หรือประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สนองพระปณิธานในองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต่อไป
Share With :
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
หมวดหมู่
Skip to content