Program of Nursing Specialty in Critical Care Nursing (adult and elderly)
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย : หลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ)
ภาษาอังกฤษ : Program of Nursing Specialty in Critical Care Nursing (adult and elderly)
ชื่อประกาศนียบัตร
ภาษาไทย : ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ)
ภาษาอังกฤษ : Certificate of Nursing Specialty Program in Critical Care Nursing (adult and elderly)
ชื่อย่อ : ป.การพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ)
รูปแบบของหลักสูตร
หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 สัปดาห์ ตามเกณฑ์การจัดทำหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางและการบริหารหลักสูตร พ.ศ. 2557 และหลักสูตรต้นแบบการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) พ.ศ. 2563 ที่สภาการพยาบาลให้การรับรอง
ประเภทของหลักสูตร : เป็นหลักสูตรฝึกอบรมทางวิชาชีพหลังปริญญาตรี
ภาษาที่ใช้ : ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
การรับเข้าฝึกอบรม : รับผู้เข้าอบรมที่สามารถสื่อสารภาษาไทย
ความร่วมมือกับสถาบันอื่น : เป็นหลักสูตรความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และกองการพยาบาล โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
การให้ประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรม :
1. ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ)
2. ประกาศนียบัตรการช่วยชีวิตขั้นสูง (ACLS)
3. ประกาศนียบัตรการบำบัดทดแทนไตแบบต่อเนื่องสำหรับพยาบาลวิกฤต (CRRT)
4. ประกาศนียบัตรการสอนภาคปฏิบัติการพยาบาลเฉพาะทาง
5. หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องทางการพยาบาล (CNEU) 50 หน่วยคะแนน
สถานภาพของหลักสูตรและการพิจารณาอนุมัติเห็นชอบหลักสูตร
1. หลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) พ.ศ.2564
2. กำหนดใช้ในปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป
3. คณะกรรมการประจำวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พิจารณาเห็นชอบหลักสูตร ในการประชุมครั้งที่ 10/2564 วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564
4. สภาการพยาบาล ให้การรับรองหลักสูตร เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564
5. คณะกรรมการบริหารการศึกษาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตร ในการประชุมครั้งที่ 5/2565 วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน 2565
6. คณะกรรมการประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตร ในการประชุมครั้งที่ 6/2565 วันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565
7. คณะกรรมการสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พิจารณาให้ความเห็นชอบ
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการฝึกอบรม
เป็นพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการพยาบาลในหอผู้ป่วยวิกฤต หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต ในสถานบริการสุขภาพทุกระดับ (ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ) ทั้งภาครัฐและเอกชน หรือสถานประกอบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ นักวิจัย หรือประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ผู้ป่วยวิกฤตมีภาวะเจ็บป่วยรุนแรง เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต จำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังและการรักษาพยาบาลจากทีมแพทย์ พยาบาลและสหวิชาชีพที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างใกล้ชิดและเร่งด่วน โดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์และเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้น พยาบาลผู้ป่วยวิกฤตจึงต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญและเป็นต้นแบบในสาขาเฉพาะทางการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต สามารถดักจับสัญญาณเตือนของการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ภาวะการล้มเหลว วิเคราะห์ความซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงเชิงพยาธิสภาพ ร่วมกับมีทักษะความสามารถในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อทำหน้าที่ทดแทนการทำงานของอวัยวะสำคัญ การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ในการประเมิน เฝ้าระวัง และจัดการภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการดำเนินการของโรคและผลจากการรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็ว เพื่อลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน สามารถนำข้อมูลหรือผลลัพธ์การพยาบาลไปพัฒนาคุณภาพการพยาบาล และทำงานแบบวิชาชีพเฉพาะและแบบสหสาขาวิทยาการที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อตอบสนองความต้องการการดูแลผู้ป่วยวิกฤตและครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ) จะช่วยเพิ่มศักยภาพพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตให้มีความรู้ ทักษะและความเชี่ยวชาญ โดยผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ทั้งในห้องเรียน การเรียนแบบออนไลน์ การฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ การฝึกปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการเสมือนจริง และการฝึกปฏิบัติในคลินิก สอดคล้องกับบริบทและความต้องการการบริการทางด้านสุขภาพ เพื่อให้พยาบาลที่เข้ารับการฝึกอบรมได้พัฒนาความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ เกิดความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยให้พ้นภาวะวิกฤต ปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนและเพิ่มอัตราการรอดชีวิต
เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต สามารถเฝ้าระวังประเมินอาการเปลี่ยนแปลง วิเคราะห์ปัญหาสถานการณ์ทางคลินิกและความต้องการการดูแลรักษาพยาบาล สามารถใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล สามารถจัดการ บรรเทา ป้องกันความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนจากการดำเนินของโรคและการรักษา เพิ่มอัตราการรอดชีวิต โดยยึดหลักการทำงานแบบสหสาขาวิทยาการ
ภายหลังสำเร็จการฝึกอบรม ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความสามารถ ดังนี้
1. วิเคราะห์สถานการณ์ แผน นโยบาย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต
2. ประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูง และความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยวิกฤต ครอบคลุมองค์รวม
3. วิเคราะห์ปัญหา ความต้องการของผู้ป่วยวิกฤต และตัดสินปัญหาทางคลินิก
4. สามารถใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต
5. ใช้กระบวนการพยาบาล และประยุกต์ความรู้จากหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อการนำไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต
6. ทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ เพื่อการจัดการ บรรเทา ป้องกันความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนจากการดำเนินของโรคและการรักษา
7. จัดการข้อมูล และพัฒนาฐานข้อมูลเบื้องต้นเพื่อปรับปรุงพัฒนางานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
สมรรถนะที่ 1. ด้านจริยธรรม จรรยาบรรณ และกฎหมาย ปฏิบัติการพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยวิกฤต ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ฟื้นคืนอวัยวะและชีวิตอย่างสมเหตุผลและเป็นธรรม โดยใช้หลักจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ กฎหมายวิชาชีพ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1. มีส่วนร่วมในการจัดระบบ เพื่อให้ผู้ป่วยวิกฤตเข้าถึงและมีการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม
2. พิทักษ์สิทธิผู้ป่วยวิกฤตให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีจำนวนและสมรรถนะของพยาบาล และบุคลากรอื่นตามมาตรฐานที่สภาการพยาบาลกำหนด
3. ใช้ศาสตร์และศิลป์ทางการพยาบาล เพื่อปกป้องผู้ป่วยวิกฤตให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องและ ปลอดภัย ร่วมพิจารณากับทีมและครอบครัวในการยืดชีวิตและการยุติการรักษาให้เป็นไปตามภาวะการเจ็บป่วยหรือตามพินัยกรรมชีวิตของผู้ป่วย สิทธิผู้ป่วยและญาติในการได้รับข้อมูลและการรักษาความลับของผู้ป่วย
สมรรถนะที่ 2. ด้านการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต บูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และหลักฐานเชิงประจักษ์สู่การปฏิบัติพยาบาลในผู้ป่วยวิกฤต
1. สามารถดักจับและการจัดการอาการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มแรกของความล้มเหลวของระบบต่างๆ ที่สำคัญ และการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อความถูกต้องและแม่นยำ
2. สามารถปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในการทำหน้าที่ทดแทนการทำงานของอวัยวะที่สำคัญ
3. สามารถปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อลดความรุนแรงจากโรค และการรักษา
4. สามารถบริหารกลุ่มยาสำคัญที่ใช้รักษาผู้ป่วยวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูง (Advanced cardiac life support/ ACLS)
สมรรถนะที่ 3. ด้านคุณลักษณะเชิงวิชาชีพสาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต
1. เป็นผู้มีความรู้และทักษะในการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตอย่างลุ่มลึก ใฝ่รู้ ค้นคว้าพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
2. มีจริยธรรมและเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ ยอมรับนับถือ และเห็นถึงคุณค่าความแตกต่างของบุคคลโดยไม่แบ่งแยก มีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการพัฒนาวิชาชีพ
สมรรถนะที่ 4. ด้านภาวะผู้นำ การจัดการและการพัฒนาคุณภาพในการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต
1. ให้ทิศทางและสนับสนุนการทำงานของทีมการรักษาพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต เป็นต้นแบบในการพัฒนางานคุณภาพของทีมและสร้างแรงบันดาลใจในการปฏิบัติการพยาบาล
2. วิเคราะห์สถานการณ์ และนำข้อมูลมาวางแผนในการปรับปรุงพัฒนางาน และมีส่วนร่วมในการออกแบบคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต
สมรรถนะที่ 5. ด้านวิชาการและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิกในการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต
1. ประมวลหลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิกเพื่อใช้วางแผน และ/หรือปรับแผนการรักษาการพยาบาลที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายอย่างต่อเนื่อง
2. ออกแบบนวัตกรรมทางการพยาบาลและนำประเด็นความรู้ ประสบการณ์และทักษะที่ได้นำไปประยุกต์ใช้ และถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจได้
3. ประมวลและนำเสนอผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติการพยาบาล
สมรรถนะที่ 6. ด้านการสื่อสารและสัมพันธภาพ
1. สามารถสื่อสารเพื่อการประเมิน ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของร่างกาย และ/หรืออวัยวะผู้ป่วยผ่านเทคโนโลยีที่ใช้ในหอผู้ป่วยวิฤต
2. สื่อสารข้อมูลที่ได้จากการประเมินผู้ป่วยโดยตรง และการประเมินที่ใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีกับทีมโดยสามารถตอบสนอง รายงานผลได้ทันที และวางแผนรักษาพยาบาลร่วมกับทีมให้ได้การรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว
3. มีเทคนิคการสื่อสารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยและญาติที่มีความบกพร่องทางการสื่อสารหรือแตกต่างทางวัฒนธรรม หรือในภาวะวิกฤตที่ทำให้ญาติผู้ป่วยมีความเข้าใจ การรับรู้ และสามารถวางแผนเตรียมรับสถานการณ์สุขภาพที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
สมรรถนะที่ 7. ด้านเทคโนโลยี และสารสนเทศ
1. สามารถใช้เทคโนโลยี สารสนเทศในการจัดการข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อแสดงผลลัพธ์การรักษาพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพ
2. ร่วมในการตัดสินกับทีมเพื่อการใช้เทคโนโลยี และ/หรือปัญญาประดิษฐ์ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต
สมรรถนะที่ 8. ด้านสังคม
1. สามารถสร้างเครือข่ายทางสังคมวิชาชีพ และใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะสาขาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวม
คุณสมบัติทั่วไป
1. มีสัญชาติไทย
2. เป็นผู้ที่มีความปรพฤติดี มีความรับผิดชอบ ประวัติการทำงานดี
3. ไม่เคยต้องรับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
4. ไม่เคยเป็นผู้ถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือถูกไล่ออกจากหน่อยงานทั้งของรัฐและเอกชน
5. ไม่เป็นโรคอันจะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและฝึกปฏิบัติ
6. ไม่ตั้งครรภ์ระหว่างการศึกษา
7. มีใบรับรองจากผุ้บังคับบัญชาขั้นต้น (หัวหน้าหอผู้ป่วย/หัวหน้างาน/หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล) ได้รับการอนุมัติให้ลาศึกษาต่อได้ตลอดหลักสูตรจากผุ้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นๆ(ผู้อำนวยการหรือเทียบเท่า)
คุณสมบัติเฉพาะ
1. ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง
2. มีประสบการณ์ในการปฏิบัติการพยาบาลมาไม่น้อยกว่า 1 ปี
3. มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
4. ผ่านการคัดเลือก โดยคณะกรรมการสอบคัดเลือก
5. ในกรณีอื่นๆ ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการหลักสูตร
1. วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
2. โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
3. โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
4. สถาบันโรคทรวงอก
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 17 หน่วยกิต
โครงสร้างหลักสูตร ประกอบด้วย 3 หมวดวิชา 8 รายวิชา ดังนี้
หมวดวิชา | หน่วยกิต |
1. วิชาแกน | 2 |
1.1 วิชานโยบายสุขภาพและระบบการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต 2 หน่วยกิต | |
2. บังคับของสาขาทางคลินิก | 2 |
2.1 วิชาการประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงและการตัดสินทางคลินิก 2 หน่วยกิต | |
3. วิชาความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา | 13 |
3.1 วิชาแนวคิดหลักการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต 3 หน่วยกิต | |
3.2 วิชาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตหลังผ่าตัดและการบาดเจ็บ 2 หน่วยกิต | |
3.3 วิชาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตทางอายุรศาสตร์ 2 หน่วยกิต | |
3.4 วิชาทักษะการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต 3 หน่วยกิต | |
3.5 วิชาปฏิบัติการบูรณาการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต 2 หน่วยกิต |
|
3.6 วิชาการจัดข้อมูลผลลัพธ์ทางการพยาบาล 1 หน่วยกิต |
|
รวม | 17 |