คณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การเขียน Manuscript เพื่อการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ ประจำปี 2566 มุ่งหวังพัฒนาศักยภาพการวิจัยของอาจารย์ ในการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติได้
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การเขียน Manuscript เพื่อการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ ให้แก่คณาอาจารย์ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 40 คน
สำหรับนโยบายและแผนยุทธศาสตร์สำคัญของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คือการพัฒนางานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การตีพิมพ์งานวิจัย บทความทางวิชาการที่สังเคราะห์ได้จากงานวิจัย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจ ผลักดัน ส่งเสริมให้อาจารย์สามารถเขียนบทความวิจัย บทความทางวิชาการ บทความทบทวนวรรณกรรม ที่มีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับ ได้รับการอ้างอิง และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในทางปฏิบัติ
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อรพรรณ โตสิงห์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ได้จัดโครงการพัฒนาการเขียน Manuscript เพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีคุณภาพ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการจัดการอบรมเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ สำหรับในสัปดาห์นี้ คณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยได้จัดการฝึกอบรมเรื่องการเขียน Manuscript เพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ และอีกสองสัปดาห์ ท่านวิทยากรและทีมทำงานจะกลับมาวิพากย์ และให้ข้อแนะนำในการเขียน Manuscript
โดยงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมจิต หนุเจริญกุล บรรณาธิการวารสาร Pacific Rim International Journal of Nursing มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ แก่คณาจารย์ โดย ช่วงเช้า เป็นการบรรยายหัวข้อ การบรรยายหลักการและขั้นตอนการเขียน Manuscript เพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ช่วงบ่ายเป็นการบรรยาย โดย ดร.ปรัชญา บุญขวัญ นักวิจัย จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค NECTEC) ในหัวข้อ การใช้ AI สนับสนุนการทำงานวิจัย กฎเกณฑ์ การใช้ AI เพื่อแก้ภาษาในบทความ และรายงานวิจัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะทำวิจัยและพัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพต่อไป
ทั้งนี้การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเขียน Manuscript เพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ” จะจัดขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 9-10 กันยายน 2566 ต่อเนื่อง ในรูปแบบการวิพากษ์ และให้ข้อแนะนำในการปรับปรุง Manuscript ของผู้เข้าร่วมอบรม