ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาการเขียน Manuscript ภาษาอังกฤษ เพื่อการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 คณะกรรมการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาการเขียน Manuscript ภาษาอังกฤษ เพื่อการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ ภายใต้โครงการ Manuscript writing development project for international publication ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน 2567 ณ โรงแรมเอ-วัน นิววิง (A-One New Wing Hotel) เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาการเขียน Manuscript ภาษาอังกฤษ เพื่อการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ ซึ่งมีคณาจารย์เข้าร่วมอบรมมีจำนวนกว่า 40 คน มีการเตรียม Manuscript เพื่อการแก้ไขให้สมบูรณ์เพื่อการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ
กิจกรรมการฝึกอบรมที่คณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยได้จัดขึ้น เป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากท่านคณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี เพื่อให้สอดคล้องของโครงการกับยุทธศาสตร์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยุทธศาสตร์ที่ ๒: สร้างความเป็นเลิศด้านการวิจัยพื้นฐานและวิจัยประยุกต์โดยบูรณาการศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียวเพื่อความยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยของอาจารย์ ในการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติได้ และได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเพิ่มประสบการณ์ในการเขียนต้นฉบับงานวิจัยที่มีคุณภาพ ระหว่างวิทยากรและกลุ่มผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งตัวชี้วัด มีจำนวนผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนไม่น้อยกว่า 4 เรื่องต่อปี และจำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ใน Q1-Q2 ไม่น้อยกว่า 20 เรื่องต่อปี และได้รับเกียรติจากวิทยากร 2 ท่าน ศาสตราจารย์ ดร.นพวรรณ เปียซื่อ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ สุวิสิษฐ์ มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ แก่คณาจารย์ นอกจากนี้ ยังมีการแชร์ประสบการณ์เผยแพร่ผลงานในฐานข้อมูล Scopus (Q1) โดย อ.ทรงวุฒิ สังข์บุญ และรวมพูดคุยการใช้ AI ในการเขียนบทความวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพและถูกหลักจริยธรรมกับอ.ดร.ปรเมศวร์ ตรีวลัยรัตน์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะทำวิจัยและพัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพ และผศ.ดร.วิมลนันท์ พุฒิวณิชพงศ์ แชร์ประสบการณ์ มุมมองจาก Reviewer วารสารวิชาการไทยและต่างประเทศ